19/3/57

ประวัติหลวงพ่อละม้าย พระศีลวัตรวิมล อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวหิน

หลวงพ่อพระศีลวัตรวิมล เจ้าอาวาสวัดหัวหิน 






ชีวประวัติหลวงพ่อพระศีลวัตรวิมล
สถานะเดิม
หลวงพ่อกำเนิด ณ ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งรัตนโกสินทร์ นามเดิมว่าละม้าย นามสกุล บุญเชื้อ โยมบิดาชื่อ แช่ม โยมมารดาชื่อ บัว พื้นเพเดิมของโยมบิดาเป็นชาวกรุงเทพฯ ส่วนโยมมารดาเป็นชาวเมืองอินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โยมบิดารับราชการเป็นมหาดเล็กในวังกรมพระจักรพรรดิพงษ์ แต่ได้เกิดเบื่อหน่ายต่อการรับราชการ จึงย้ายครอบครัวไปอยู่ที่ตำบลปากน้ำปราณ ประกอบอาชีพทางการประมง
หลวงพ่อมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน คือ
1. นางเสงี่ยม
2. นายคำ
3. นางละมูล
4. พระศีลวัตรวิมล (ละม้าย อมรธมโม)
5. นางละมัย


การศึกษาและอุปสมบท

เมื่อเยาว์วัยหลวงพ่ออยู่กับโยมบิดามารดาที่ตำบลปากน้ำปราณ ได้ศึกษาเล่าเรียนตามความนิยมของคนไทยสมัยนั้น โดยการเรียนที่เรียกว่า "หนังสือวัด" จนอ่านออกเขียนได้ ครั้นเจริญวัยขึ้นจึงช่วยโยมบิดาประกอบอาชีพทำโป๊ะอยู่ 6 ปี แต่การทำโป๊ะไม่ได้ผล โยมบิดามารดาจึงเปลี่ยนอาชีพเป็นทำไร่และค้าขายหลวงพ่อได้ช่วยโยมบิดามารดาประกอบาอาชีพอยู่จน พ.ศ. 2457 อายุได้ 22 ปี โยมมารดาก็ถึงแก่กรรม หลวงพ่อจึงได้ย้ายมาอยู่กับนายคำ บุญเชื้อ ซึ่งเป็นพี่ชายที่ตำบลหัวหินและได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหัวหิน ตำบลหัวหินในปีนั้นเอง พระอุปัชฌาย์ได้ขนานนามให้ว่า "อมรธมโม" พระครูวิริยาธิการี วัดหัวหิน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเปี่ยม วัดนาห้วย อำเภอปราณบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อได้อยู่ที่วัดหัวหิน ศึกษาอักษรสมัยในสำหนักวัดหัวหินทั้งอักษรขอมและอักษรไทย จนแตกฉาน นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้ลงมือศุกษาพระธรรมวินัยวิปัสสนาธุระและพุทธาคมกับพระครูวิริยาธิการี ซึ่งเป็นพระอาจารย์เรืองวิทยาคุณ และโด่งดังในคุณวิเศษในสมัยนั้นโดย ตรงอีกด้วย
มีเรื่องเล่าว่า หลวงพ่อเคยติดจะลาสิกขาหลายครั้ง แต่อาจจะเป็นด้วยกุศลหนหลัง ที่หลวงพ่อจะต้องเป็นสมณเพศเพื่อการพระศาสนา แลเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย หลวงพ่อจึงได้ตัดสินใจอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์และถวายชีวิตแด่พระศาสนาจนตราบสิ้นอายุขัย
สานุศิษย์
หลวงพ่อเป็นพระเถระที่มีศิษยานุศิษย์มาก ซึ่งมีฐานะและประเภทต่างๆ กัน เช่น สิทธิวิหารริอันเตวาสิก นวกภิกษุผู้มาขอนิสัยรวมทั้งบรรดาฆาราวาสที่มีความเคารพและผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของหลวงพ่ออีกเป็นจำนวนมาก ศิษย์ของหลวงพ่อได้เป็นผู้มีชื่อเสียงในวงราชการและธุรกิจหลายคน



ทำบุญอายุครบ 5 รอบ
ปฏิปทา-จริยาวัตร
หลวงพ่อเป็นพระเถระที่ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติโดยมัชฌิมาปฏิปทามีความสังวรอยู่เป็นนิจ วัตรปฏิบัติของหลวงพ่อเป็นตัวอย่างอันดีของสิทธิวิหารริกและอันเตวาสิกโดยทั่วไป ดังจะเห็นได้จาก คณะศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไป ดังจะเห็นได้จากคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันหล่อรูปขนาดเท่าองค์จริง ของหลวงพ่อ ในขณะที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่เพื่อกราบไหว้บูชา ซึ่งการสร้างรูปหล่อไว้ก่อนตายนี้ จะมีน้อยรายมาก ทั้งบุคคลธรรมดาและสมณะ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันสร้างอิทธิวัตถุต่าง ให้หลวงพ่อปลุกเสก เพื่อแจกจ่ายไว้เคารพสักการะบูชาและคุ้มครองป้องกันตัวด้วย

จริยาวัตรอันส่งเสริมกิตติคุณของหลวงพ่อนั้นประมวลได้ดังนี้

1. ความเป็นธรรม หลวงพ่อเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพน่าเกรงขาม แต่เปี่ยมด้วยเมตตาปกครองพระภิกษุและศิษย์อย่างเป็นธรรม ไม่เลือกว่าลูกใครหลานใคร ถ้าทำผิดต้องได้รับการตำหนิติเตียนหรือได้รับการลงโทษโดยเสมอหน้ากัน เป็นประจักษ์แก่ประชาชนโดยทั่วไปและศิษย์โดยทั่วหน้า ความเป็นธรรมของหลวงพ่อนี้เป็นเหตุให้เกิดตบะความเกรงในหลวงพ่อ อย่างประหลาด และได้กลายเป็นความนับถืออย่างลึกซึ้ง
2. สมถะและจาคะ หลวงพ่อเป็นพระสมถะไม่ชอบความโอ่อ่า แม้จะมีกุฏิใหญ่โตเป็นที่พำนักแต่หลวงพ่อก็อยู่อย่างสงบเงียบ ไม่ค่อยได้เปิดสถานทีโอ่โถงไว้คอยต้อนรับแขก แต่ตรงกันข้ามหลวงพ่ออยู่เสมอที่บริเวณด้านข้างของกุฏิ ซึ่งมีชานกว้างเพียงสองตารางวาเท่านั้น
หลวงพ่อชอบอยู่อย่างพระ ไม่ฟุ่มเฟือยของประดับที่มีผู้มาถวายก็ไม่เอาออกประดับหมอนอิงงาม ๆ ก็เอาผ้าอาบห่อไว้ ไตรจีวรมากมาย นอกจากนี้ยังมีตะลุ่ม เครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ อีกมาก ล้วนถูกเก็บซุกเอาไว้ วันดีคืนดีหลวงพ่อจะเอาออกมาทำบุญ ของดี ๆ ที่มีคนนำมาถวาย ผลไม้ทั้งแห้งและกระป๋อง บางทีหลวงพ่อจะเก็บไว้จนเสีย หรือไม่ก็แจกจ่ายไปที่อื่น พฤติการณ์นี้ว่าจะหลวงพ่อเป็นพระสะสมก็ไม่เชิง เพราะการแจกและการให้เป็นจาคะสมบัติของหลวงพ่อที่มีอยู่ประจำเสมอมา
3. การศึกษา ในด้านการศึกษานั้นหลวงพ่อให้ความสนใจเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากการตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เมื่อ พ.ศ. 2517 เพื่อให้เยาวชนได้รับการศึกษาธรรม และปฏิบัติธรรมตามพุทธศาสนา อันจะเป็นการช่วยกล่อมเกลาเยาวชนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป และการจัดตั้งมูลนิธิศีลวัตรวิมล เมื่อ พ.ศ. 2521 ก็มีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อการส่งเสริมการศึกษาโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์เช่นกัน นอกจากนี้การศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุและสามเณร ก็ยังปรากฏว่าหลวงพ่อได้ให้ความสนใจและส่งเสริมเป็นอย่างมาก หลวงพ่อจะหมั่นออกตรวจตราและควบคุมดูแลการศึกษาของพระภิภิกษุและสามเณรด้วยตนเองเสมอ
4. บวชกุลบุตร หลวงพ่อเป็นพระเถระที่มีผู้เคารพเลื่อมใสมาก จะเห็นได้จากการมีผู้จองตัวหลวงพ่อ เป็นพระอุปัชฌาย์แแต่ละพรรษาไม่น้อยกว่า 100 คน ทั้งกุลบุตรในอำเภอหัวหินและกุลบุตรในท้องที่อื่น หลวงพ่อต้องรับภาระหน้าที่นี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 จนมรณภาพเป็นเวลานานถึง 33 ปี
5. นักพัฒนา หลวงพ่อเป็นคนมีมานะพากเพียร เมื่อได้ตั้งใจทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ หลวงพ่อมีความรู้ทางด้านวิชาช่างยอดเยี่ยม ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าหลวงพ่อได้เคยศึกษาวิชาช่างมาจากที่ใด แต่ด้วยความสนใจประกอบกับการเป็นคนช่างคิด คิดอะไรไม่ได้เป็นไม่ยอมหยุดคิดจนออกจนเข้าใจ การก่อสร้างถาวรวัตถุทุกชนิด หลวงพ่อจะทำอย่างประณีตบรรจง ไม่ใช่สักแต่ว่าทำหลวงพ่อจะเป็นผู้ออกแบบประดิษฐ์ตกแต่งและควบคุมงานด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถที่จะให้คำแนะนำแก่เพื่อทำงานก่อสร้างให้แก่วัดอย่างได้ผลดี ฉะนั้นในสมัยของหลวงพ่อ จึงปรากฏว่าได้มีการบูรณะปฏิสังขรและก่อสร้างถาวรวัตถุอย่างมากมาย
อนึ่ง สมควรบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติของวัดหัวหินด้วยว่าการสร้างปูชณียวัตถุและถาวรวัตถุของหลวงพ่อนั้น หลวงพ่อได้สร้างขึ้นโดยไม่เคยออกเรี่ยไรนอกวัด เมื่อผู้ใดทราบว่าหลวงพ่อจะสร้างอะไร ก็จะมีคนมาร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ ออกค่าปูน ค่าทราย ค่าหิน ค่ากระเบื้อง และจับจองเป็นเจ้าภาพสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ตลอดจนบริจาคเงินทองจนงานของหลวงพ่อสำเร็จลุล่วงไปทุกอย่าง
6. ความละเอียดรอบคอบ หลวงพ่อเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนมีความเป็นระเบียบเรียบเรียบร้อยตลอดเวลาไม่ว่างานก่อสร้าง การเก็บรักษาเครื่องไม่เครื่องมือหรือการเก็บเข้าของต่างๆหลวงพ่อจะเก็บไว้เป็นที่เป็นทาง แม้จะซุกซ่อนอยู่ที่ใดหลวงพ่อจะจดจำได้ทั้งหมด หากใครมาโยกย้ายไปไว้ที่อื่น หลวงพ่อจะรู้ทันที ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ลูกศิษย์ลูกหาระมัดระวังกันมาก
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่สมควรจะได้นำมาบอกเล่ากันไว้ด้วยว่า การเก็บรักษาไตรจีวรและหนังสือทุกชนิดนั้น ไม่ว่าจะเก็บไว้ในตู้หรือซุกอยู่ที่ใดก็ตาม หลวงพ่อจะเอาเทียนทั้งเล่มสอดใส่ไว้ด้วยเสมอ เพราะการเอาเทียนสอดไว้จะทำให้แมลง มด และปลวกไม่กัดกินผ้าและหนังสืออย่างเด็ดขาด จึงสามารถเก็บรักษาผ้าไตรจีวรและหนังสือไว้ได้เป็นเวลานาน แม้แต่ชุดเครื่องแต่งตัวที่หลวงพ่อเตรียมไว้สวมใส่เวลาลาสิกขา ตามความตั้งใจในระยะที่บวชได้ไม่นานนั้น เมื่อหลวงพ่อมรณภาพแล้วได้มีการค้นพบกันขึ้น ปรากฏว่าเครื่องแต่งตัวดังกล่าวยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทุกประการ
หน้าที่การงาน
หลวงพ่อได้รับภาระหน้าที่กิจการงานบริหารคณะสงฆ์และพระศาสนา สร้างสรรความเจริญแก่วงการคณะสงฆ์ ตามความรู้ความสามารถที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้

พ.ศ. 2477 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหัวหิน
พ.ศ. 2479 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสหัวหิน
พ.ศ. 2489 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2498 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอหัวหิน
พ.ศ. 2520 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานหน่วยอบรมประชาชนอำเภอหัวหิน(อปอ.)
และประธานหน่วยอบรมประชาชนตำบลหัวหิน (อปต.)




หลวงพ่อพระศีลวัตรวิมล

สมณศักดิ์

พ.ศ. 2463 เป็นพระปลัดฯ ฐานานุกรมในพระครูวิริยาธิการี
พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูศิลาสมานคุณ
พ.ศ. 2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2504 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศีลวัตรวิมล

การก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัด
ถวารวัตถุต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระครูวิริยาธิการเป็นเจ้าอาวาสนั้นได้ชำรุดเสื่อมโทรมลงไปตามกาลเวลา เมื่อหลวงพ่อเข้ารับหน้าที่เจ้าอาวาสปกครองวัด สิ่งใดที่จำเป็นต้องรีบทำด้วนหลวงพ่อก็รีบดำเนินการก่อสร้างซ่อมแซม สิ่งใดที่ไม่รีบร้อนก่อสร้างซ่อมแซมก็ทำภายหลัง ฉะนั้นในสมัยของ หลวงพ่อจึงมีการบูรณะปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆมากมาย

ต่อไปนี้ เป็นรายการก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหัวหินในสมัยของหลวงพ่อ

พ.ศ. 2477 สร้างกุฏิประดิษฐ์สถานรูปหล่อพระครูวิริยาธิการี 1 หลัง
พ.ศ. 2479-2495 บูรณะปรับปรุงสระ "อมรธมโม" 2 ครั้ง เพื่อให้สามารถจัดเก็บน้ำสำหรับพระภิกษุไว้ใช้ได้ตลอดปี
พ.ศ. 2492-2493 สร้างกำแพง ก่อด้วยหินถือปูนล้อมรอบเขตอุปาจารของวัดทั้ง 4 ด้าน
ด้านเหนือ ตามแนวเขตโรงเรียนเทศบาลบ้านหัวหินยาว 180 เมตร
ด้านใต้ ตามแนวเขตถนนกำเนิดวิถี ยาว 180 เมตรมีซุ้มประตู 1 ซุ้ม
ด้านตะวันออก ตามแนวเขตถนนพูลสุขยาว 200 เมตร มีซุ้มประตู 2 ซุ้ม
ด้านตะวันตก ตามแนวเขตถนนเพชรเกษม ยาว 200 เมตร มีซุ้มประตู 2 ซุ้ม ต่อมาได้อุดซุ้มประตูทั้งสองซุ้มเสียเพราะหมดความจำเป็นต้องใช้ และได้สร้างซุ้มประตูขึ้นใหม่อีก 1 ซุ้ม ตรงกับซุ้มประตูข้างประตูขึ้นใหม่อีก 1ซุ้ม ตรงกับซุ้มประตูข้างอุโบสถด้านตะวันออก เพื่อตัดถนนให้เป็นเส้นทางตรงจากซุ้มประตูด้านตะวันออกสู่ซุ้มประตูด้านตะวันตก

พ.ศ. 2500 สร้างศาลาฌาปณกิจสถาน 1 หลัง และปรับปรุงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้ศาลาฌาปณกิจสถานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2510
พ.ศ. 2505 สร้างกุฏิ 1 หลัง บริเวณใกล้ตำนักแดงและสร้างหอระฆัง 1 หลัง (นายห้อย นางพร้อม ชยางกูล ถวาย)
พ.ศ. 2511 สร้างกุฏิประดิษฐานรูปหล่อพระปลัดอิว วราโภ 1 หลัง ติดกับกุฏิพระครูวิริยาธิการีด้านใต้ (ตระกูลแนวบรรทัด อุทิศให้พระปลัดอิว วราโภ)
พ.ศ. 2514 ปฏิสังขรณ์ อุโบสถทั้งหลังพร้องทั้งสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบอุโบสถ
พ.ศ. 2515-2518 เป็นการพัฒนาวัดครั้งสำคัญที่สุดของหลวงพ่อ โดยดำเนินการแยกเขตวัดออกเป็น เขตพุทธาวาส และสังฆาวาส มีกำแพงกั้นตลอดแนว จากกำแพงด้านตะวันออกจดกำแพงด้านตะวันตก บูรณะกุฏิอมรธมโมใหม่ รื้อกุฏิและเสนาสนะเก่า ที่มีมาแต่เดิมทั้งหมด และอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม โดยคัดเลือกนำเอาไม้ในส่วนที่ยังอยู่ในสภาพดีพอใช้ได้ มาสร้างเป็นหมูกุฏิขึ้นใหม่ในเขตพุทธาวาสอีกหลายหลัง ส่วนตรงกลางเขตพุทธาวาสได้สร้างเป็นหอสวดมนต์ ขนาดใหญ่ และใช้เป็นหอฉันสำหรับพระภิกษุและสามเณร ด้วยการก่อสร้างทั้งหมดนี้เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 2,000,000.- บาท

อนึ่ง เนื่องจากการก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวนี้ ต้องใช้ทุกทรัพย์เป็นจำนวนมาก หลวงพ่อได้ตัดสินใจขายที่ดินส่วนตัวของหลวงพ่อ ซึ่งมีอยู่ 1 แปลงให้แก่เอกชนเป็นเงิน 200,000.- บาท เพื่อเป็นทุนเริ่มแรก สมทบกับทุกทรัพย์ที่วัดมีอยู่แล้ว 400,000.- บาท รวมเป็นเงิน 600,000.- บาท ส่วนทุกทรัพย์ที่ได้มานอกเหนือจากนี้ ล้วนได้รับบริจาคจากผู้เคารพเลื่อมใสและศรัทธาหลวงพ่อทั้งสิ้น

พ.ศ. 2520 สร้างกุฏิตึก 1 หลัง (นางแย้ม กระแสสินธุ์ อุทิศให้นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์)
พ.ศ. 2521 สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง

การปฏิสังขรณ์วัดในสมัยปัจจุบัน
พระครูขันธคีรีวินัยคุณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้ทำการปฏิสังขรณ์วัดหัวหินสืบต่อจากหลวงพ่อดังต่อไปนี้

พ.ศ. 2523 สร้างท่อระบายน้ำ เป็นเงิน 120,000.- บาท
พ.ศ. 2524 สร้างสุสาน โดยรื้อสุสานเก่าซึ่งเป็นที่ต่ำน้ำท่วมถึงออกทั้งหมด ถมพื้นที่ให้สูงขึ้นแล้วสร้างสุสานขึ้นใหม่ เป็นเงิน 120,000.- บาท
พ.ศ. 2525-2526 บูรณะปฏิวสังขรณ์มณฑปใหม่ทั้งหมด เพื่อตั้งเมรุในงานพระราชทานเพลิงศพพระศีลวัตรวิมล ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 หลังจากนั้นได้เปลี่ยนแปลงเป็นห้องสมุดของวัด งบประมาณดำเนินงานจนแล้วเสร็จ 1,000,000.- บาทเศษ


มรณภาพ



พิธีถวายน้ำสรงศพ และอาบน้ำศพ ณ กุฏิอมรธมโม
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2523
ตามปรกติหลวงพ่อเป็นพระเถระที่มีพรรษายุกาลเจริญ มีพลานามัยและสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ มีจิตใจดีและเข้มแข็ง ไม่ค่อยปรากฏมีอาการอาพาธถึงล้มหมอนนอนเสื่อแต่มาตอนหลังหลวงพ่อเข้าสู่วัยชราแล้วหลวงพ่อเริ่มอาพาธ และต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลทั้งที่กรุงเทพฯ และที่หัวหินบ่อยๆ ก่อนหน้าที่หลวงพ่อจะมรณภาพเล็กน้อย ตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 หลวงพ่อได้เริ่มอาพาธด้วยโรคชราอีก ศิษยานุศิษย์ได้นำหลวงพ่อไปรับการดูแลรักษา ที่โรงพยาบาลหัวหินระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาล อาการของหลวงพ่อเพียงทรงอยู่และมีอาการอ่อนกำลังลงทุกขณะ จนมรณภาพโดยสงบ ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2523 เวลา 10.00 น. เศษ ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 อายุได้ 87 ปี 3 เดือน 24 วัน พรรษา 65 เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดหัวหิน 46 ปี



ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ กุฏิอมรธมโม
เมื่อมรณภาพแล้วบรรดาศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพที่กุฏิอมรธมโม สวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลถวาย 100 วัน และพระราชทานเพลิงศพ ในวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2526

โดย จามเทวี