16/3/57

หลวงพ่อคงพระเกจินักพัฒนาแห่ง'เมืองเพชรบุรี'

หลวงพ่อคงพระเกจินักพัฒนาแห่ง'เมืองเพชรบุรี'

หลวงพ่อคง ฐิติวิริโยพระเกจินักพัฒนาแห่ง'เมืองเพชรบุรี' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              "วัดเขากลิ้ง" ตั้งอยู่หมู่ ๒ บ้านเขากลิ้ง ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มูลเหตุที่ชื่อว่าเขากลิ้งนั้น ตามประวัติที่ผู้เฒ่าเล่าขาน คือ มีนายพรานเข้ามายิงสัตว์ป่าที่บนยอดเขาซึ่งมีแหล่งน้ำอยู่ สัตว์ป่าลงมากินน้ำ ขณะที่นายพรานได้ยิงสัตว์นั้นปืนได้ถีบนายพรานกลิ้งตกลงมาจากเขา จึงเป็นนามเรียนขานของหมู่บ้านและวัดจนถึงปัจจุบันนี้

              การสร้างวัดแห่งนี้พระผู้มีบทบาทสำคัญ คือ “พระครูถาวรวิริยคุณ” หรือหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันและรูปแรก ทั้งนี้ ท่านได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ตั้งแต่ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี จนกระทั่งธุดงค์มาถึงแก่งกระจาน ได้ปักกลดตรงบริเวณป่าไผ่ที่เป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน

              ในเวลากลางคืนได้นั่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอยู่ภายในกลด จนเวลาเที่ยงคืนได้เวลาจำวัด ในคืนหนึ่งได้ฝันว่า ตัวท่านเองได้เดินแบกกลดไปในป่าถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งมีช้างเดินตามท่านมาด้วย ๓ เชือก ในความฝันท่านเดินข้ามแม่น้ำที่ลึกนั้นได้โดยไม่จม พร้อมกันนั้นช้าง ๓ เชือกได้เดินข้ามมาด้วยโดยไม่จมเช่นกัน

              เมื่อตื่นจากความฝัน หลวงพ่อคงได้นั่งคิดตรึกตรองถึงความฝันนั้นอยู่หลายวัน แต่แก้ไม่ตกไม่รู้ว่าความฝันนั้นหมายถึงอะไร จนกระทั่งเดินทางไปกราบเรียนพระอุปัชฌาย์ของท่าน คือ พระครูญาณประยุติ (หลวงพ่อเรียน) เมื่อหลวงพ่อเรียนได้รับการเล่าแล้ว ท่านก็ทำนายความฝันนั้นให้ว่า "คุณคง คุณจะต้องทำป่าตรงนั้นให้เป็นวัดขึ้นได้ในอนาคต แม้จะยากแสนยากอย่างไรก็จะประสบผลสำเร็จดุจดังที่คุณได้ข้ามแม่น้ำนั้นมาได้โดยปราศจากอุปสรรคใดๆ ส่วนช้างที่ข้ามมาด้วยนั้น คือ บริวารผู้ที่จะให้การสนับสนุนให้สำเร็จ พระภิกษุคงก็ได้กราบพระอุปัชฌาย์แล้วกล่าวคำว่า “สาธุ” รับเอาคำอวยพรที่พระอุปัชฌาย์ทำนายไว้ในใจตลอดจนกระทั่งได้ลงมือสร้างวัด

              หลวงพ่อคงได้ดำเนินการสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ต่อมาได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถจนแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ และได้รับการประกาศแต่งตั้งให้เป็นวัดโดยกรมศาสนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘ พร้อมกันนั้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๙ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐

              จากการที่หลวงพ่อคง ฐิตวิริโย เป็นพระผู้มีความวิริยะอุตสาหะในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยดีตลอดมา ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจากท่านเจ้าคุณเทพ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ที่พระครูสังฆรักษ์ ต่อมาได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ “พระครูถาวรวิริยคุณ” จากชั้นโทเลื่อนเป็นพระครูชั้นเอกในชื่อพระราชทินนามเดิม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ทำหน้าที่กุลบุตรผู้ที่เข้ามาขอบวชในบวรพระพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน

              ในการสร้างวัตถุมงคลนั้น หลวงพ่อคงได้สร้างเหรียญ รุ่นแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ จากนั้นก็สร้างต่อมาอีกหลายสิบรุ่น ซึ่งล้วนได้รับความนิยมจากลูกศิษย์ ทั้งนี้ ท่านมักถูกนิมนต์ไปนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลเสมอๆ ถึงกับมีการขนานนามท่านว่า "หลวงพ่อคงเทพเจ้าแห่งแก่งกระจาน" เลยทีเดียว

              ปัจจุบันแม้ว่าวัยจะล่วงเลยมาถึง ๙๑ ปี หากใครไปวัดเขากลิ้งจะเห็นหลวงพ่อคงออกมาตัดหญ้ทำความสะอาดบริเวณวัด โดยท่านบอกว่า "อาตมาตัดหญ้า กวาดวัด ปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างวัดใหม่ๆ หรือ ๕๐ ปีก่อนโน่น และจะทำไปอย่างนี้จนสิ้นลมหายใจ เพราะถ้าพระไม่ทำวัดให้สะอาด แล้วใครที่ไหนจะมาช่วยทำ เมื่อญาติโยมเห็นก็เกิดความศรัทธา"

“ผู้มีความเพียรเป็นที่ตั้ง”
              "นายคง แก่นไม้อ่อน" เป็นชื่อและสกุลเดิมของหลวงพ่อคง ท่านเกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๖ ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านบางพลับน้อย ต.บางพลับ อ.สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน

              ครั้นอายุครบ ๒๑ ปี ปู่เห็นว่าอายุควรแก่การบวชเรียน เพื่อนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาขัดเกลาจิตใจให้สมกับที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว จึงนำเข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดราษฎร์บำรุง (ไสค้าน) ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยให้อยู่ในการอุปถัมภ์ของหลวงตาเสริม รักษาการเจ้าอาวาส โดยมีพระครูสุนทรธรรมวงศ์ (เดชา) สนฺทโร เป็นพระอุปัชฌาย์

              หลังจากที่พระคงได้บวชแล้ว ก็ศึกษาพระธรรมวินัย จนกระทั่งสอบธรรมสนามหลวงได้นักธรรมชั้นตรี อันเป็นนวกภูมิ และได้เรียนพระธรรมวินัยพุทธประวัติเรียงความแก้กระทู้ธรรมจนมีความรู้ว่าจะสอบได้ ท่านจึงสมัครสอบนักธรรมชั้นโทในภาคสนามหลวง และผลปรากฏว่าท่านสอบได้นักธรรมชั้นโท อันเป็นมัชฉิมภูมิของนักธรรมด้านปริยัติ แต่ด้วยบุญกุศลที่ทำมาน้อยในเพศสมณะหรืออย่างไรไม่ทราบ ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในเพศบรรพชิต จึงได้ไปกราบลาพระอุปัชฌาย์กรรมวาจาจารย์ และหลวงตาเสริมผู้อุปการะมาแต่ต้น ขอลาสิกขาออกไปเป็นเพศฆราวาส และออกไปครองเรือน จนมีบุตร ๓ คน

              เมื่อได้รับประสบการณ์ชีวิตแห่งการเป็นผู้ครองเรือนโดยพร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภรรยาและบุตร ท่านก็ได้มอบทรัพย์สมบัติเท่าที่มีให้ภรรยาและบุตรให้ดูแลรักษากันต่อไป โดยท่านหันหน้าเข้าหารสพระธรรมเพื่อบำเพ็ญวัตรปฏิบัติของผู้ถือพรหมจรรย์ต่อไป ภรรยาและบุตรก็อนุญาตให้ตามที่ท่านปรารถนา
  เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ อายุ ๔๑ ปี ได้อุปสมบทครั้งที่ ๒ ณ พัทธสีมาวัดตำหรุ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โดยมีพระครูญาณประยุติ (หลวงพ่อเรียน หรือหลวงพ่อแก่ที่คนทั่วไปใช้เรียกกัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูใบฎีกาสมบุญ วัดตำหรุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ฐิตวิริโย"  แปลว่า “ผู้มีความเพียรเป็นที่ตั้ง” หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว พระภิกษุคงก็ได้อยู่ปฏิบัติพระอุปัชฌาย์วัตรและอาจาริยวัตร พร้อมกับได้ศึกษาพระธรรมวินัยต่อจากที่ท่านเคยบวชในครั้งแรก

ไม่มีความคิดเห็น: