18/3/57

ประวัติหลวงพ่อแล ทิตัพโพ วัดพระทรง เพชรบุรี


หลวงพ่อแล ทิตัพโพ วัดพระทรง เพชรบุรี
อริยะโลกที่6

"หลวงพ่อแล ทิตัพโพ" วัดพระทรง จ.เพชรบุรี พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมศิษย์สายหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง และหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง
หลวงพ่อแล มีสายเลือดชาวเพชรบุรี เกิดในสกุล วาดวงศ์ เมื่อวันพุธที่ 19 ก.ค. 2459 ที่บ้านไร่สัตว์ ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายอยู่ และนางทอง วาดวงศ์ เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 7 คน
อายุ 14 ปี เข้าพิธีบรรพชาที่วัดบ้านเกิด
กระทั่งอายุครบ 20 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดหนองไม้เหลือง จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2497 มีหลวงพ่อใหม่ วัดเขาทะโมน เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อยอด วัดหนองไม้เหลือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ทิตัพโพ"
จากนั้นได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองไม้เหลือง ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่วัดพระทรงเมื่อ พ.ศ.2498 จนถึงปัจจุบัน
ท่านได้เพียรปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และมีความสนใจร่ำเรียนสรรพวิชาความรู้ ด้วยตระหนักอยู่เสมอว่าวิชาความรู้ยิ่งเรียนมาก ยิ่งมีคุณประโยชน์ และไม่มีวันสูญสลาย โดยได้ศึกษากับครูบาอาจารย์เฉพาะในเพชรบุรีเพียงจังหวัดเดียวถึง 7 ท่าน
เริ่มจากหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง อ.เมือง เรียนวิชาถอนพิษแมลงต่างๆ หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง อ.ท่ายาง ร่ำเรียนวิชาสักยันต์ครู ซึ่งเป็นยันต์สูงสุดของการสัก เป็นยันต์แรกที่เรียกว่า "หัวใจพระราม" มีหน้าที่ควบคุมยันต์ต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นลิงลม, หนุมาน, พญาหงส์เงิน-หงส์ทอง เป็นต้น
ต่อมา ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุวรวิหาร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิชาพระขรรค์ จากหลวงพ่อโสก วัดปากคลอง อ.บ้านแหลม พร้อมทั้งวิชาตะกรุดโทน ตะกรุดแฝด จากหลวงพ่อผัน วัดมหาธาตุวรวิหาร ได้เรียนสักตัวมหาเมฆ จากคุณพ่อต่อและคุณพ่อจันทร์ ศิษย์พระครูสันต์ แห่งวัดเขาวัง จ.เพชรบุรี พระเถราจารย์สมัยรัชกาลที่ 5
ในปีพ.ศ.2489 เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน ผลักดันชีวิตของท่านให้ต้องแปรเปลี่ยน เมื่อครั้งที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุ เกิดเหตุร้ายแรงกับครอบครัวและญาติโยมของท่าน เมื่อมีโจรเข้าปล้นเงินทอง ทำร้ายโยมมารดาและพี่น้องทุกคนเสียชีวิต (โยมบิดาเป็นอัมพาตและได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว) ท่านต้องนำเงินจากการขายทองคำหนัก 6 บาท ที่พวกโจรรีบร้อนทำตกไว้ เพื่อนำไปจัดงานศพครอบครัว
จากเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจออกเดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่า เพื่อปฏิบัติธรรมและแสวงหาความรู้ โดยออกเดินทางจาก จ.เพชรบุรี มุ่งสู่ จ.นครปฐม เรียนวิชากะลาตาเดียว ราหูอมจันทร์ และเสริมดวงกับ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง อ.เมือง เรียนวิชาลงนะหน้าทองกับหลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม อ.ดอนตูม และวิชาผงยาจินดามณี ที่ทำมาจากเบี้ยแก้ กับหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว อ.เมือง
จากนั้นได้เดินทางสู่ จ.สมุทรสาคร เรียนวิชาชูชกกับหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน อ.เมือง และเรียนวิชาตะกรุดไม้ไผ่ จากหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ อ.กระทุ่มแบน ก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี เรียนวิชาเบี้ยแก้ กับหลวงปู่รอด วัดนายโรง ตลิ่งชัน แล้วมุ่งไปเมืองอยุธยา เรียนวิชาตะกรุดพวง และยันต์หัวใจปลาตะเพียนมหาลาภจากหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร
ก่อนเดินทางขึ้นเหนือถึง จ.นครสวรรค์ เรียนวิชาศาสตรามีดหมอจากหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ อ.ตาคลี และสุดท้ายย้อนมาภาคตะวันออก เป็นลูกศิษย์หลวงปู่อี๋ วัดสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
นอกจากเป็นพระเกจิอาจารย์สุดยอดด้านสักยันต์ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายแล้ว ด้านวัตถุมงคลที่เลื่องลือของหลวงพ่อแล คือ เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแลรุ่นแรก ที่โด่งดัง ต่อมา ได้สร้างรุ่น 2 และรุ่น 3 อีกทั้ง มีตะกรุด เหรียญพระพิฆเนศวร หนุมาน พญาหงส์ เป็นต้น
ต้นปีพ.ศ.2551 ได้จัดสร้างพระพิฆเนศ เนื้อผง รุ่น "แก้วมหามงคล" ด้านหน้ารูปพระพิฆเนศ 4 กรถือลูกแก้ว ด้านหลังรูปหนุมานเชิญธงขี่สิงห์ โดยอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว มอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ศิษยานุศิษย์
วัตถุมงคลดังกล่าวถือเป็นรุ่นสุดท้าย ที่หลวงพ่อแลจัดสร้าง เพราะหลังจากนั้น หลวงพ่อแล ได้อาพาธติดเชื้อทางกระแสโลหิต เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพชรรัชต์ แต่ปรากฏว่าอาการไม่ดีขึ้น มีการทรงตัวตลอด
กระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 10 มี.ค. 2551 หลวงพ่อแล ละสังขารด้วยอาการสงบ สิริอายุ 92 ปี พรรษา 54 สร้างความอาลัยให้ชาวเมืองเพชรบุรีเป็นอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: