19/9/63

ประวัติโดยละเอียดอดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ และอดีตเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี ขอบคุณข้อมูลจาก พระครูพิทักษ์ปราณเขต(หลวงพ่อลำยง)

ประวัติโดยละเอียดอดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ และอดีตเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี

อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ และอดีตเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี

ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 สถานะเดิม             ชื่อ นายอรุณ นามสกุล ตั้งแสนวสุเวสน์ เกิดเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก บิดาชื่อ นายพลอย มารดาชื่อนางขวัญเรือน ตั้งแสนวสุเวสน์ เกิดที่บ้านปากคลองเกลียว ตำบลปากคลองเกลียว อำเภอเกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อุปสมบท               เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง ซึ่งมีพระครูธรรมโสภิต (เปี่ยม จนฺทโชโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการคืบ สุนทฺโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการอยู่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สำเร็จความเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา เวลา ๑๑.๑๔ น. ณ วัดเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วิทยฐานะ              พ.ศ. ๒๔๗๑ สอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดนาห้วย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ สอบได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๔๗๗ สอบได้นักธรรมชั้นเอกในสำนักเรียน วัดปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

o  พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม บวชได้ ๑๓ พรรษา และในช่วงนั้นทางวัดปากคลองปราณยังขาดผู้ปกครอง (ไม่มีเจ้าอาวาส) ญาติโยมชาวบ้านปากน้ำปราณ ได้ไปขอพระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม กับท่านพระครูธรรมโสภิต (หลวงพ่อเปี่ยม จนฺทโชโต) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน ในตอนที่ญาติโยมชาวบ้านปากน้ำปราณไปนิมนต์พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม นั้น ท่านไม่ได้อยู่จำพรรษาที่วัดปราณบุรี เพราะท่านได้ไปศึกษาหาความรู้ต่อที่จังหวัดเพชรบุรี แต่ท่านพระครูธรรมโสภิต (หลวงพ่อเปี่ยม จนฺทโชโต) ได้รับปากกับญาติโยมไว้ว่าจะหาพระมาปกครองดูแลอยู่ที่วัดปากคลองปราณให้ และแล้วท่านพระครูธรรมโสภิต (หลวงพ่อเปี่ยม จนฺทโชโต) ท่านได้มีหนังสือเรียกพระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ให้กลับมา แล้วบอกว่า “คุณช่วยรับภาระไปดูแลวัดปากคลองปราณ เพราะว่าญาติโยมเขามาหาพระ เพื่อจะให้ไปปกครองดูแล ตลอดถึงการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดปากคลองปราณด้วย” แท้ที่จริงแล้วพระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ท่านจะไม่มา เพราะท่านไปศึกษาหาความรู้ต่ออยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี แต่ในเมื่อท่านพระครูธรรมโสภิต (หลวงพ่อเปี่ยม จนฺทโชโต) ท่านได้รับปากกับญาติโยมไว้แล้ว ท่านก็บอกว่า “คุณต้องไปอยู่วัดปากคลองปราณ ต้องไปให้ญาติโยมเห็นหน้าก่อน เพราะได้รับปากไว้ แต่เมื่อคุณไปให้เขาเห็นหน้าแล้วนั้นจะอยู่ได้หรือไม่นั้นก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง” ในเมื่อพระอุปัชฌาย์ท่านได้มอบหมายงานชิ้นสำคัญให้ เพราะเป็นงานของพระพุทธศาสนา ท่านก็ไม่สามารถขัดความประสงค์ของหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ได้ และแล้ววันสำคัญในชีวิตของ พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ผู้มีพรรษาเพียง ๑๓ พรรษาเท่านั้น ที่ได้มารับงานอันสำคัญของพระศาสนา คือต้องรับผิดชอบทั้งหมดภายในวัด ซึ่งเรียกว่า “เจ้าอาวาส” หรือ “สมภาร” ก็คือหัวหน้าสงฆ์ภายในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจกรรม ตลอดถึงภาระกิจหน้าที่การงานทุกอย่างเกี่ยวกับวัดที่ท่านได้ดูแลปกครองอยู่

ดังนั้น วันสำคัญก็ได้มาถึงแก่พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย โดยมีผู้รับรองคือ หลวงพ่อท่านพระครูปราณกวีวรพรต (หลวงพ่อคืบ สุนฺทโร) เจ้าอาวาสวัดปราณบุรี และพระเดชพระคุณพระสุเมธีวรคุณ (หลวงพ่อเปี่ยม จนฺทโชโต) เจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับรองว่า พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ได้มาอยู่ที่วัดปากคลองปราณ ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 งานปกครอง

เมื่อพระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ท่านได้เริ่มเข้ามาอยู่วัดปากคลองปราณ ภายในอาณาเขตเนื้อที่ ๓๖ ไร่ กับ ๓ งานนั้น เป็นภาระหนักพอสมควร เพราะว่าในสมัยนั้นพื้นที่บริเวณวัดเป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เรียบเสมอกันเหมือนกับปัจจุบันนี้ และยังเป็นป่ารกไม่มีแม้ถนนหนทาง ดังนั้นจึงเป็นภาระหนักสำหรับพระภิกษุหนุ่มที่ชื่อว่า อรุณ อรุณธมฺโม ที่ได้มาอยู่รูปเดียว และเป็นผู้ต่างถิ่นมา ก็ย่อมมีอุปสรรคขวางกั้นหลายอย่าง หลายประการ แต่ท่านก็ได้ฟันฝ่าอุปสรรคนั้นๆ ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะท่านยึดหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมา สัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงตรัสเป็นพุทธภาษิตไว้ว่า “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ” คนเราจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความขยันหมั่นเพียรอยู่เสมอ

ในที่สุด พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ท่านก็ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่าเรานี้จะเป็นก็อยู่วัดปากคลองปราณ ถึงแม้ว่าจะต้องตายก็ขอตายที่วัดปากคลองปราณเช่นกัน และแล้วพระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ท่านก็ทำได้ดังที่ท่านได้ตั้งสัจจะเอาไว้ ดังพุทธภาษติที่ว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา “คำสัตย์แลเป็นวาจาที่ไม่ตาย” ดังนั้นพระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ท่านก็ได้เริ่มทำประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม เพราะท่านจะใช้ชีวิตให้มีค่าต่อวันเวลาที่ผ่านไปโดยไม่ให้เปล่าประโยชน์ โดยที่ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลยเพราะวันเวลาที่ล่วงไปนั้น ไม่ได้ล่วงไปแต่วันและเวลาอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมจะพาเอาชีวิตของสรรพสัตว์ ตลอดถึงมนุษย์ทุกรูปทุกนามไปด้วย ดังนั้นท่านจึงไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต รีบทำกิจที่เป็นประโยชน์ทั้งส่วนตัว และส่วนรวมอยู่เสมอสมกับคำว่า พระสงฆ์ หมายถึง ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จ พระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสอนให้ผู้อื่นกระทำตามด้วย

วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบนักธรรมสนามหลวง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ท่านได้มาอยู่ที่วัดปากคลองปราณได้ ๔ ปี ๑ เดือน ๑๗ วัน ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ รูปที่ ๖ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙

บัดนี้ พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ท่านได้เป็นผู้รับผิดชอบพระภิกษุสามเณร และศิษย์วัด ตลอดถึงผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัดปากคลองปราณ ท่านสั่งสอนแนะนำศิษยานุศิษย์ให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีถูกต้องทั้งกาย วาจาและใจ และให้เป็นผู้ขยันในการศึกษาตามหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาว่า สิ่งใดเป็นข้อวัตรปฏิบัติ และสิ่งใดเป็นข้อห้ามที่ควรเว้นก็ให้เว้น ในเมื่อพระภิกษุอรุณ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดปากคลองปราณแล้ว ท่านก็ยังมีห่วงอยู่อีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าห่วงนี้เป็นห่วงสำคัญ คือห่วงโยมมารดาไม่มีใครคอยดูแล เพราะโยมของท่านที่มีอายุมากแล้ว

ดังนั้น เมื่อท่านทำภาระกิจหน้าที่เสร็จแล้ว ท่านก็จะเดินทางไปปราณบุรี เพื่อไปดูแลโยมของท่านแทบทุกวัน เพราะบุญคุณบิดา - มารดานั้นใหญ่หลวงนัก พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่าผู้ที่เป็นบิดา - มารดานั้นเป็นบุคคลหาได้ยากในโลก คือบุพพการีบุคคล ได้แก่ บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน มีอยู่ ๔ ประเภทคือ

๑.     บิดา – มารดา                           ๒.    ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์

๓.    พระมหากษัตริย์                       ๔.    พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

กตัญญูกตเวทีบุคคล ได้แก่บุคคลผู้รู้อุปการะคุณที่ท่านทำแล้ว และตอบแทนคุณท่าน มีอยู่๔ ประเภทคือ

๑.     บุตร – ธิดา                              ๒.    ศิษย์

๓.    ประชาราษฎร์                          ๔.    พุทธบริษัท ๔

              ดังนั้น พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ท่านได้ตั้งอยู่ในฐานะกตัญญูกตเวทีบุคคล ดังที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้ว่าผู้เป็นบุตร ธิดา พึงบำรุงบิดา มารดาโดยสถาน ๕ ประการ คือ

๑.     ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้ว เราเลี้ยงท่านตอบแทน

๒.    ช่วยทำกิจการงานของท่านโดยเคารพ

๓.    ดำรงวงศ์สกุลของตนไว้มิให้เสื่อมสูญ

๔.    ประพฤติตนให้เป็นคนสมควรรับทรัยพ์มรดก

๕.    เมื่อท่านล่วงลับทำกาลกิริยาตายไปทำบุญอุทิศให้ท่าน

แม้แต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เองก็มีความกตัญญูกตเวทีต่อพระมารดา พระองค์เสด็จจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาให้สำเร็จมรรคผล เพื่อเป็นการตอบแทนคุณของพระมารดา และเป็นแบบอย่างของชาวโลกสืบไป ดังคำว่า สาธุชนคือคนดี อสาธุชน คือคนไม่ดี มีอะไรเป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ว่าเป็นคนดี พระบรมศาสดาจึงทรงตรัสเป็นพุทธภาษิตไว้ว่า นิมิตฺตํ สาธุ รูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี นอกจากนี้พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ยังเป็นผู้รู้อุปการะคุณต่อสถานที่ๆ ท่านได้อยู่อาศัยในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ รูปที่ ๖ ในเมื่อท่านรู้ว่าชาวบ้านปากน้ำปราณนั้นมีความศรัทธาเลื่อมใสใน หลวงพ่อหว่าง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณรูปแรก ท่านได้เริ่มสร้างรูปเหมือนของหลวงพ่อหว่าง ตลอดถึงรูปเหรียญของหลวงพ่อหว่างขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะบูชาเป็นการตอบแทนคุณท่านฯ ดังคำบาลีที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล

□        พระภิกษุอรุณ อรุณธมฺโม ท่านได้ทำภาระหน้าที่ของท่านเรื่อยมา โดยไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์

ในวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ตรงกับวันพุธ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลปราณบุรี มีชื่อเรียกตามสายงานการปกครองว่า เจ้าอธิการอรุณ อรุณธมฺโม มีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตตำบลปราณบุรี ท่านได้สละเวลาทำงานให้แก่พระศาสนามาโดยลำดับ

วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านได้ทำงานโดยไม่มีความย่อท้อต่อการงานทั้งหลายทั้งปวง

วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี เมื่อมีอายุพรรษาที่ ๑๙ ท่านได้ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ของอำเภอปราณบุรีมาโดยตลอด รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอปราณบุรีอยู่ ๒ ปี ๓ เดือน ๗วัน

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์จังหวัด ในตำแหน่งศึกษาจังหวัดและในปีเดียวกันเดือนเดียวกัน คือวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ตรงกับวันอังคารแรม ๘ ค่ำ เดือน ๒ เจ้าอธิการอรุณ อรุณธมฺโม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ท่านได้ทำหน้าที่การงานมาโดยตลอด

วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ ท่านได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ (หมายถึง ผู้เพ่งโทษน้อยใหญ่หรือผู้รับรองกุลบุตรเข้ารับการอุปสมบทในท่ามกลางหมู่สงฆ์ เป็นทั้งผู้นำเข้าหมู่และเป็นผู้ปกครองดูแลรับผิดชอบหน้าที่ฝึกสอนอบรมให้การศึกษาต่อไป)

ดังนั้น วันสำคัญสูงสุดของเจ้าอธิการอรุณ อรุณธมฺโม ก็ได้มาถึงและมีความสำคัญของพระสงฆ์ก็เพราะว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรพัดยศ ที่พระครูธรรมโสภิต ตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ และเมื่อท่านได้รับภาระในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านได้แนะนำสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร และศิษยานุศิษย์ภายในวัด ตลอดถึงประชาชนให้ประพฤติตนเป็นคนดีมีศีลธรรมประจำใจ สิ่งใดเป็นสิ่งที่ผิด ก็ให้ละเว้น และสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามท่านองคลองธรรมแล้วให้ประพฤติปฏิบัติตาม แม้แต่ตัวของท่านเอง ท่านก็ไม่ย่อท้อต่อการประพฤติปฏิบัติ สมกับได้ชื่อว่าพระสงฆ์สาวกของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า สุปฏิปันโนเป็นผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง, ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อ เญยยธรรม คือธรรมที่ควรรู้, สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร ปฏิบัติโดยชอบเป็นที่น่านับถือ

ในเมื่อ ท่านพระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณแล้ว ท่านก็ได้เริ่มทำการปรับปรุงสถานที่วัดปากคลองปราณ จากสถานที่เดิมเป็นพื้นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ท่านได้ชักชวนให้ญาติโยมช่วยกันขนทรายจากชายทะเล มาก่อพระทรายในวันเทศกาล คือวันสงกรานต์ และยังได้รับประโยชน์คือเป็นการถมที่ในบริเวณวัดให้เสมอกันอีกด้วย และยังเชิญชวนให้ญาติโยมได้ช่วยกันถางป่าภายในวัดซึ่งในครั้งนั้นวัดปากคลองปราณยังเป็นป่ารกมาก จนสามารถทำให้วัดปากคลองปราณในปัจจุบันนี้มีความร่มรื่น เพราะท่านพระครูธรรมโสภิตได้เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ ตลอดถึงด้านความคิดในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ เช่น แนะนำสั่งสอนให้พระภิกษุ สามเณรภายในวัดทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น และวันอุโบสถ โดยที่ไม่เคยขาดแม้ในวันเทศกาลสำคัญ เช่น วันออกพรรษา ท่านยังแนะนำให้พระภิกษุ และญาติโยมที่มาทำบุญ ฟังพระธรรมเทศนาให้เข้าร่วมถือธุดงควัตรในข้อ เนสัชชิกังคะธุดงค์ หมายถึงการงดเว้น ซึ่งการนอนตลอดคืนหนึ่งทุกๆ ปีเป็นประจำเสมอมา

ท่านพระครูธรรมโสภิต ได้ทำงานส่วนรวมให้แก่สังคมในยุคนั้น ซึ่งทางบ้านเมืองย่อมมีความเดือดร้อนจากโจรภัย ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหาความสุขไม่ได้มีแต่ความหวาดกลัว แต่ท่านพระครูธรรมโสภิต ท่านก็มิได้นิ่งดูดาย ท่านทำหน้าที่ของพระสงฆ์ คือชี้โทษและชักชวนแนะนำให้ทำแต่ความดี ถ้าท่านรู้ว่าผู้ใดประพฤติตัวไม่ดี ทำแต่ความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนแล้ว ท่านก็นำหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาไปสอนให้บุคคลนั้นได้กลับตัวกลับใจ เมื่อบุคคลนั้นได้กลับตัวกลับใจและตั้งตนเป็นคนดีแล้ว จึงนำเอาบุคคลนั้นมาบวชในพระพุทธศาสนาต่อไป เพราะเหตุนี้เองท่านจึงมีส่วนช่วยเหลือสังคมในฝ่ายบ้านเมือง จับบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติไม่ดีหรือที่เรียกว่า โจรหรือเสือนั่นเอง แต่ท่านจับบุคคลประเภทนี้ด้วยพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าดังในสมัยพุทธกาลได้มีโจรนามหนึ่งชื่อว่าองคุลีมาลโจร ซึ่งเป็นโจรที่มีความโหดเหี้ยมใจตุร้าย ไม่มีใครที่ไหนมีความสามารถจับได้ แม้จะมีทหารเป็นกองทัพก็ไม่สามารถจับได้มีเพียงแต่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เดียวเท่านั้นที่สามารถจับโจรองคุลีมาลได้ พระองค์ไม่มีเครื่องมือ ศัสตราวุธใด ๆ แต่พระองค์ท่านมีเพียง ธรรมาวุธ เป็นเครื่องมือจับโจรองคุลีมาล ดังนั้น พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ย่อมรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว

ฉะนั้น ท่านพระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) ก็เป็นพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้ารูปหนึ่ง ที่ได้ศึกษาหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา แล้วนำเอามาประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม รวมความแล้วผลงานในด้านการปกครองของท่านพระครูธรรมโสภิตมีดังนี้

๑๗     มิถุนายน    ๒๔๘๕      ท่านได้ย้ายมาอยู่ที่วัดปากคลองปราณ

๑๖      ธันวาคม     ๒๔๘๖      ท่านเป็นกรรมการตรวจข้อสอบนักธรรมสนามหลวง

๕       สิงหาคม     ๒๔๘๙      ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ

๑๘     ธันวาคม     ๒๔๘๙      ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลปราณบุรี

๒๐     มิถุนายน    ๒๔๙๐       ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์

๒๔    กันยายน     ๒๔๙๐       ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี

๑        มกราคม     ๒๔๙๓      ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์จังหวัด ตำแหน่งศึกษาจังหวัดประจวบฯ

๓๐     มกราคม     ๒๔๙๓      ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี

๑๗     พฤษภาคม ๒๔๙๓      ท่านได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

๔       ธันวาคม     ๒๔๙๓      ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรพัดยศที่พระครูธรรมโสภิต

๖       มกราคม     ๒๔๙๕      เป็นกรรมการสนามหลวง แผนกธรรม

รวมผลงานด้านการศึกษาของท่านพระครูธรรมโสภิต

พ.ศ.    ๒๔๗๑      ท่านสอบได้นักธรรม ชั้นตรี สำนักเรียนวัดนาห้วย ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พ.ศ.    ๒๔๗๓     ท่านสอบได้นักธรรม ชั้นโท สำนักเรียนวัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

พ.ศ.    ๒๔๗๗     ท่านสอบได้นักธรรม ชั้นเอก สำนักเรียนวัดปราณบุรี ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พ.ศ.    ๒๔๗๔     ท่านเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมชั้นตรี ประจำสำนักเรียนวัดวังยาว

พ.ศ.    ๒๔๗๕     ท่านเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมชั้นตรี ประจำสำนักเรียนวัดนาห้วย

พ.ศ.    ๒๔๗๗     ท่านเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ชั้นตรี-โท ประจำสำนักเรียนวัดปราณบุรี

พ.ศ.    ๒๔๘๔     ท่านเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดปราณบุรี

พ.ศ.    ๒๔๘๕ – ๒๔๘๗       ท่านเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมชั้นตรี – ชั้นโทประจำสำนักเรียน วัดปากคลองปราณ

* ท่านพระครูธรรมโสภิต ได้ทำงานด้านกิจการของคณะสงฆ์ในด้านศาสนาที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ ซึ่งเรียกว่า การอุปสมบท หมายถึงการให้กุลบุตรได้บวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ท่านได้รับหน้าที่พระอุปัชฌาย์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ รวมระยะเวลาที่ท่านพระครูธรรมโสภิตได้ทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์มานั้น ได้ ๓๔ ปี

* ท่านได้ทำภาระหน้าที่ในการบวชให้แก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทั้งหมดจำนวน ๒,๙๕๙ รูป และกุลบุตรที่มีความเลื่อมใส บวชแล้วในบวรพระพุทธศาสนาจำนวน ๒,๙๕๙ รูปนั้นที่เหลือยังครองสมณเพศอยู่มีรายนามดังนี้คือ

๑.    พระครูไพโรจน์ยติคุณ         เจ้าอาวาสวัดวังก์พง

       บวช พ.ศ. ๒๔๙๕              อยู่ลำดับที่ ๑๒๑

๒.    พระครูประกาศสมณคุณ      ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง

       วัดอรุณาราชวราราม           กรุงเทพมหานคร

       บวช พ.ศ. ๒๔๙๗              อยู่ลำดับที่ ๒๘๙

๓.    พระวิกรมมุนี                    วัดปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร

       บวช พ.ศ. ๒๔๙๘              อยู่ลำดับที่ ๓๙๕ (มรณะภาพ)

๔.    พระทอง กุสลจิตฺโต            วัดนาห้วย

       บวช พ.ศ. ๒๔๙๙               อยู่ลำดับที่ ๔๙๕

๕.    พระครูประจักษ์ศีลคุณ        เจ้าอาวาสวัดนาห้วย

       บวช พ.ศ. ๒๕๐๐               อยู่ลำดับที่ ๕๗๒

๖.    พระครูประสิทธิ์วุฒิกร        เจ้าอาวาสวัดปราณบุรี เจ้าคณะตำบลปราณบุรี          

       บวช พ.ศ. ๒๕๐๓               อยู่ลำดับที่ ๘๒๘

๗.    พระอธิการบุญเชิด อชิโต     อดีตเจ้าอาวาสวัดพุ

       บวช พ.ศ. ๒๕๐๕               อยู่ลำดับที่ ๑,๐๓๑ (มรณะภาพ)

๘.    พระหนู จตฺตกโย                อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาน้อยปากน้ำปราณ

       บวช พ.ศ. ๒๕๐๘               อยู่ลำดับที่ ๑,๒๐๔

๙.     พระครูสุนทรจรณธรรม        อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองยายอ่วม และอดีตเจ้าคณะตำบลหนองพลับ

       บวช พ.ศ. ๒๕๐๙                 อยู่ลำดับที่ ๑,๓๓๒ (มรณะภาพ)

๑๐.   พระเจียก หิตกาโม               วัดเขาน้อย

       บวช พ.ศ. ๒๕๑๗                อยู่ลำดับที่ ๒,๑๖๑

๑๑.   พระฮั้งย้วย สนฺตกาโย          วัดนาห้วย

       บวช พ.ศ. ๒๕๑๘                อยู่ลำดับที่ ๒,๓๘๗

๑๒. พระลำยง ทีปกโร                 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ

       บวช พ.ศ. ๒๕๒๐                อยู่ลำดับที่ ๒,๔๑๑

๑๓. พระครูปลัดทรงยศ กิตฺติวณฺโณ  เจ้าอาวสาวัดเฉลิมประดิษฐาราม

       บวช พ.ศ. ๒๕๒๐                อยู่ลำดับที่ ๒,๕๒๗

๑๔. พระกรวิก ยติกโร                 วัดปากคลองปราณ

       บวช พ.ศ. ๒๕๒๖                อยู่ลำดับที่ ๒,๘๘๑

* ท่านพระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) ได้ทำภาระธุระในบวรพระพุทธศาสนามาเป็นเวลา ๕๕ พรรษา ได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์สาวก หรือที่เรียกว่า บวชสืบอายุพระพุทธศาสนา

 งานด้านสาธารณูปการ

* ท่านพระครูธรรมโสภิต ท่านได้มาจำพรรษาที่วัดปากคลองปราณ ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ รวมเป็นเวลา ๔๒ พรรษา ท่านได้ทำประโยชน์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมมากมายหลายประการ อาทิ เช่น ริเริ่มตัดถนนสายปากน้ำปราณ-เขากระโหลก โดยร่วมกับพระอาจารย์เมม เขมกาโม พร้อมด้วยคณะชาวบ้านได้ร่วมช่วยกันพัฒนาสร้างความเจริญให้แก่ส่วนรวมและตัดถนนซอยสุระปาณา ซึ่งเป็นถนนสายหน้าวัดปากคลองปราณ ตลอดถึงถนนสายปากน้ำปราณกับปรือน้อน – หนองด้ง – หนองบัว และออกไปบ้านใหม่ ท่านก็ร่วมพัฒนามาโดยตลอด เพราะว่า ในตอนนั้นยังเป็นทางเกวียนอยู่ และแม้แต่ท่านจะกลับไปเยี่ยมโยมมารดาที่ปราณบุรี ยังต้องเดินด้วยเท้าไป และแม้แต่ที่ท่านได้มาเป็นสมภารเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ ท่านก็เดินมา ท่านยังเล่าให้ฟังว่าตอนที่ท่านมาเป็นสมภารที่วัดปากคลองปราณนั้น สิ่งที่ติดตัวท่านมานั้นมีผ้าไตร ๑ ชุด กระเป๋า ๑ ใบ, เสื่อ ๑ ผืน, ลูกศิษย์ ๑ คน และสุนัข ๑ ตัว และในช่วงนั้นท่านเล่าว่า วัดปากคลองปราณยังเป็นป่าอยู่เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นท่านจึงเป็นสมภารที่รับภาระหนัก, เหนื่อย อดทน และตั้งใจทำโดยไม่ย่อท้อในหน้าที่การงานทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความเจริญของส่วนรวม

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านได้ทำซุ้มประตูเข้าวัด และกำแพงรอบบริเวณวัดทั้งหมด จำนวน ๓๔๔ ช่อง ญาติโยมทุกท่านคิดเอาเถิดว่าในสมัยนั้นเกือบ ๔๐ ปีแล้ว กำแพงวัดจำนวน ๓๔๔ ช่องนั้นต้องใช้เวลาทำนานขนาดไหน เมื่อได้ทำกำแพงวัดเสร็จแล้ว ท่านก็เริ่มทำถนนภายในวัดอีกหลายสายที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านพระครูธรรมโสภิต ท่านได้ทำอะไรไว้ให้แก่พวกเราบ้างก็คิดดูเถิด เมื่อท่านได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณวัดเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้ปรับปรุงกุฏิสงฆ์ ซึ่งในสมัยนั้นท่านต้อง หาวัสดุที่พอใช้ได้ทำไปก่อน ตลอดถึงโรงครัว แต่ว่าไม่มีงบประมาณ

พ.ศ. ๒๕๑๖         ท่านได้สร้างเมรุเผาศพประจำวัดปากคลองปราณ โดยร่วมกับนายนครสมตระกูล ใช้เงินจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

พ.ศ. ๒๕๑๘         ท่านได้สร้างศาลาฌาปนสถาน ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ชื่อศาลาบุญผ่องอุทิศ ใช้เงินก่อสร้างจำนวน ๒๔๙,๒๔๙.๘๐ บาท (สองแสนสี่หมื่นเก้าพันสองร้อยสี่สิบเก้าบาทแปดสิบสตางค์)

พ.ศ. ๒๕๑๙          ท่านได้สร้างศาลาฌาปนสถานขึ้นอีกหลังหนึ่ง ชื่อศาลาวงษ์อารีย์ราษฎร์ ใช้เงินก่อสร้างจำนวน ๒๔๗,๕๑๖ บาท (สองแสนสี่หมื่นเจ็ดพันห้าร้อยสิบหกบาทถ้วน)

พ.ศ. ๒๕๒๐         ท่านได้สร้างโรงครัว ๑ หลัง ไม่มีงบประมาณในการสร้าง

พ.ศ. ๒๕๒๑         ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญ คอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น กว้าง ๑๒ วา ยาว ๒๖ วา โดยได้เริ่มสร้างเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๑ เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ศาลาการเปรียญหลังนี้ ยังไม่แล้วเสร็จ หลวงพ่อท่านพระครูธรรมโสภิต ท่านก็ได้มรณะภาพลงเสียก่อน และแล้วงานในส่วนที่เหลืออยู่นั้น เจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณรูปปัจจุบัน คือ ท่านพระครูสิริปริยัตยาภรณ์ ท่านได้ประสานงาน หรือ ได้ดำเนินการต่อมาจนแล้วเสร็จดังที่เห็นประจักษ์อยู่ทุกวันนี้นั้น ได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังนี้ คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น โดยประมาณ ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบห้าล้านบาทถ้วน)

ดังนั้น หลวงพ่อท่านพระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ และอดีตเจ้าคณะอำเภอปราณบุรีอันเป็นที่รักที่เคารพของศิษยานุศิษย์ ตลอดถึงเป็นที่นับถือศรัทธาของญาติโยมชาวตำบลปากน้ำปราณ และชาวบ้านใกล้เคียง เพราะท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบในพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง ตลอดถึงเป็นพระนักพัฒนามาโดยตลอด และท่านได้ริเริ่มในการก่อสร้างภายในวัดปากคลองปราณไว้อีกหลายอย่าง เช่น ท่านได้วางผังในการสร้างวิหารสำหรับใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อในกุฏิ และ หลวงพ่อหว่าง เอาไว้ แต่แล้ว ท่านหลวงพ่อพระครูธรรมโสภิต ท่านยังไม่ได้ลงมือทำการก่อสร้างวิหารท่านก็ได้มาถึงแก่มรณะภาพลงเสียก่อน ต่อมาหลวงพ่อท่านพระครูสิริปริยัตยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณรูปปัจจุบัน ท่านได้ประสานงานต่อมาจนกระทั่งสำเร็จเรียบร้อย ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านห้าแสนบาทถ้วน)

พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านก็ยังริเริ่มที่จะสร้างศาลาฌาปนสถานขึ้นอีกหนึ่งหลัง ซึ่งเดิมชื่อว่า ศาลาประชารักษ์ แต่แล้วพระเดชพระคุณหลวงพ่อ หรือหลวงปู่พระครูธรรมโสภิต ก็ยังไม่ได้ลงมือกระทำ เพราะว่ามาช่วงระยะหลังๆ นั้น สุขภาพของหลวงปู่ไม่ค่อยจะอำนวยเท่าไรนัก เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนอยู่เสมอ ซึ่งเกี่ยวกับที่ท่านหลวงปู่ไม่ค่อยจะมีเวลาพักผ่อน และไม่ยอมให้หมอรักษาอีกด้วย เพราะว่าหลวงปู่ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ ตามความเป็นจริงที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงตรัสไว้ว่า อนิจจา สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ซึ่งมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง และมีความแตกสลายไปในที่สุด ระบรมศาสดาได้ทรงตรัสแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสีว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา และมีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านได้ ธมฺมสากจฺฉา คือการสนทนาธรรมกับพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ถึงเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หลวงปู่ท่านถามพระเถระรูปนั้นว่า ถ้าพระเดชพระคุณท่านมรณะภาพคือตายแล้วจะเกิดไหม พระเถระรูปนั้นได้ตอบหลวงปู่ว่า ผมต้องเกิดอีก เพราะผมยังมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ แล้วพระเถระรูปนั้นก็ถามท่านหลวงปู่บ้างว่า ถ้าพระเดชพระคุณพระครูธรรมโสภิต มรณะภาพคือตายแล้วจะเกิดอีกไหม หลวงปู่ตอบพระเถระรูปนั้นว่า ผมไม่เกิดอีกแล้ว เพราะว่าผมนั้นได้หายสงสัยแล้วในระหว่างคำสนทนาทั้ง ๒ ข้อนี้ ผมเองก็ไม่สามารถชี้ให้เห็นชัดลงไปว่าเป็นอย่างไร กระผมในฐานะศิษย์ผู้มีความรู้ความสามารถน้อย จึงขอฝากคำสนทนาทั้งสองข้อนี้ให้แก่ผู้มีความรู้ความสามารถในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้ช่วยวินิจฉัยว่าการที่ตายแล้วเกิด กับการที่ตายแล้วไม่กลับมาเกิดอีกนั้นเป็นอย่างไร? หลวงปู่ท่านพระครูธรรมโสภิต ท่านได้ปฏิบัติในหลักธรรมคำสอนถือสัจจะ คือความจริง, ขันติ ความอดทน ต่อความทุกข์เวทนาไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใคร และไม่เคยที่จะรบกวนใคร ท่านได้ถือหลักปฏิบัติในคำสอนขององค์พระศาสดาที่ทรงตรัสประทานให้แก่หมู่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ณ เวฬุวนาราม (ป่าไผ่) เมืองราชคฤห์ว่า เราจะไม่กล่าวใส่ร้ายใคร เราจะไม่เบียดเบียน และทำร้ายใคร จงใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ จงฉันภัตตาหารแต่พอควรตามอัตภาพ และจงฝึกตนให้มาก

ดังนั้น หลวงปู่ท่านถึงแม้จะมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยที่ขาดภาระกิจหน้าที่ในพระพุทธศาสนาท่านปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เช่น วันสำคัญของพระสงฆ์ คือวันอุโบสถ ตั้งแต่ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนามาเป็นเวลา ๕๕ พรรษา ท่านไม่เคยที่จะขาดวันอุโบสถเลย นี่เป็นสิ่งที่ท่านได้กระทำมาโดยตลอด

ตามธรรมดาของวันเวลาที่ผ่านไปนั้น ไม่ได้ผ่านไปเฉพาะวันเวลาเท่านั้น ยังคร่าเอาชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายไปด้วย ไม่เลือกว่าจะเป็นบ้านใครเมืองใคร ไม่มีการยกเว้นใครไว้เลย ดังนั้น เมื่อถึงวาระสุดท้ายของหลวงปู่เหมือนท่านจะรู้ว่าวาระของท่านได้มาถึงที่สุดแล้วเพราะว่าในวันที่ ๒๐-๒๓ เดือนมิถุนายน ๒๕๒๗ หลวงปู่ท่านได้วางภาระกิจของท่านทุกอย่าง เช่นผู้ที่จะเข้ามาบวช ตลอดถึงญาติโยมได้นำปัจจัยมาถวายท่าน เพื่อสมทบการก่อสร้าง ท่านก็แนะนำสั่งสอน แต่ท่านก็ไม่ได้รับท่านให้นำไปถวายพระในวัดรูปอื่น และผู้ที่รับคืออาตมาเอง (พระภิกษุลำยง ทีปกโร) และหลวงปู่ยังเรียกกระผมเข้าไปถามว่า เมื่อวันนี้มีโยมเขานำนาคมาฝากวัด และนำปัจจัยมาถวาย เพื่อทำการก่อสร้างคุณรับไว้หรือเปล่า ผมตอบหลวงปู่ว่าผมรับไว้แล้วครับ หลวงปู่บอกว่าดีแล้ว

ดังนั้น ในคืนวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๗ หลวงปู่เริ่มมีอาการหอบนอนไม่ค่อยสะดวก กระผมพระภิกษุลำยง ทีปกโร ผู้คอยเฝ้าดูแลหลวงปู่อยู่ตลอดเวลา ผมเห็นอาการของท่านแล้วไม่ค่อยดี เพราะท่านหายใจไม่ค่อยออก ผมเองจึงบอกหลวงปู่ว่าให้หลวงปู่นอนหงายหน้าขึ้นจะได้หายใจสะดวก แต่ท่านกลับลุกขึ้นนั่งสอนผมว่า คุณลำยง คุณรู้ไหมว่าผมนอนท่าอื่นไม่ได้ เพราะว่าหลวงปู่ฝึกนอนท่านี้มาเป็นเวลา ๓๐ ปี จึงจะเอาชนะใจของตนเองได้ คือให้เป็นผู้มีสติกำกับตัวอยู่เสมอนั่นเอง

ดังนั้น ผมจึงบอกกับหลวงปู่ว่า ถ้าหลวงปู่ไม่สบายมากก็ไปหาหมอ เพื่อทำการรักษาพยาบาล แต่แล้วก็ถูกหลวงปู่บอกและสอนว่าเราไปหาหมอ หมอเขาก็รักษาเรา เราอยู่วัดเราก็รักษา ทำไมจึงต้องห่วงกับชีวิตด้วยอย่างดีก็แค่ตายไม่ต้องเสียดายกับสังขาร เพราะว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่หลวงปู่ท่านพูดนั้นก็เป็นความจริงแท้ ดังคำที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันว่า

เนตํ มม                       อะไรๆ ในโลกนี้ไม่ใช่ของเรา

เนโส หมสฺมิ                 เราไม่ได้เป็นอะไรในโลก

เนโส เม อตฺตา              ในโลกไม่ใช่ตัวตนของเรา

ในคืนวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๗ กระผมพระภิกษุลำยง ทีปกโร เห็นว่าหลวงปู่ไม่ได้สรงน้ำมาเป็นเวลา ๒ วัน ผมเลยเอาน้ำใส่กระป๋อง พร้อมกับผ้าสบง และผ้าสไบ เพื่อจะไปเช็ดตัวและเปลี่ยนผ้าให้ท่าน แต่หลวงปู่ท่านได้บอกว่า เอาไว้สรงและเปลี่ยนผ้าวันพรุ่งนี้ตอนเย็นๆ กระผมเองก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมก็เลยเอาน้ำและผ้าไปเก็บแล้วก็สนทนากับหลวงปู่อีกเล็กน้อย หลวงปู่ท่านบอกว่าไปจำวัดเถิดไม่ต้องเฝ้าหรอกรบกวนเปล่าๆ ผมเองก็เลยออกมาอยู่ข้างนอก และพอเวลาเช้าก็เอาอาหารข้าวต้มไปถวายหลวงปู่ที่ห้อง พอถึงเวลาฉันภัตตาหารเพลเสร็จแล้ว หลวงปู่ก็ไปเข้าห้องน้ำ ผมเองประคองหลวงปู่ไปห้องน้ำ แต่หลวงปูให้เฝ้าอยู่หน้าห้องน้ำ ท่านเข้าไปเพียงองค์เดียว พอหลวงปู่ท่านออกมาจากห้องน้ำแล้ว รู้สึกว่าท่านมีอาการหอบหายใจไม่ค่อยทัน แล้วท่านก็กลับมาเข้าห้องของท่าน พอถึงหน้าห้องท่าน หลวงปู่ท่านก็นั่งลงตรงที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาพระของท่าน หลวงปู่ท่านได้เจริญสมาธิที่หน้าโต๊ะหมู่นั้น แล้วเหตุการณ์ที่ไม่นึกไม่ฝันก็เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๗ ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ เวลา ๑๒.๓๘ น. ท่านหลวงปู่พระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) ท่านได้มรณะภาพลงที่หน้าห้องตรงโต๊ะหมู่บูชาพระของท่านนั่นเอง เป็นความจริงดังที่หลวงปู่ท่านบอกเอาไว้ว่าวันพรุ่งนี้ตอนเย็นๆ ค่อยสรงน้ำและเปลี่ยนผ้าให้ท่าน แล้วก็เปลี่ยนจริงๆ คือสรงน้ำศพท่าน และวันนี้เป็นวันที่ศิษยานุศิษย์ ตลอดจนถึงญาติโยมผู้มีความเคารพนับถือในตัวหลวงปู่ได้แสดงความเศร้าโศกเสียใจในการจากไปของหลวงปู่ท่านพระครูธรรมโสภิต เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชนชาวบ้านตำบลปากน้ำปราณ และประชาชนใกล้เคียงได้ล้มลงเสียแล้ว เพราะว่าท่านไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ดังที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสไว้ว่า เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น แพทย์ลงความเห็นว่า ท่านหลวงปู่พระครูธรรมโสภิต มรณะภาพลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลว รวมสิริอายุได้ ๗๖ ปี บวชเป็นพระในบวรพระพุทธศาสนา ๕๕ พรรษา และมาอยู่จำพรรษา ที่วัดปากคลองปราณ ๔๒ ปี

ท่านหลวงปู่ พระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) ท่านได้บำเพ็ญบุญกุศลที่ท่านได้ทำมาแล้ว ก็คงจะเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาแก่ท่านทั้งหลายแล้วว่า หลวงปู่ได้ทำอะไรไว้ให้แก่พวกเราบ้าง สิ่งที่หลวงปู่ได้ทำไว้หลวงปู่ท่านไม่ได้เอาไปด้วยเลย ท่านทิ้งไว้ให้กับพวกเราอนุชนคนรุ่นหลังไว้ดูเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป ดังพระพุทธภาษิตที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า รูปํ ชีรติ มจฺจานํ นามโคตฺตํ น ชีรติ ร่างกายของสัตว์ย่อมย่อยยับได้ แต่ชื่อและสกุลไม่ย่อยยับ

พฤษภกาสรอีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคงสำคัญหมายในกายมี

นรชาติวางวายมลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดีประดับไว้ในโลกา.

* บัดนี้ หลวงปู่ท่านพระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ และอดีตเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี ท่านได้จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ สิ่งที่หลวงปู่ได้เหลือเอาไว้ให้ศิษยานุศิษย์ก็คือคุณงามและความดีให้ระลึกถึงอยู่เสมอ เพราะหลวงปู่ท่านเป็นพระมหาเถระที่มั่นคง และคงที่เสมอต้นเสมอปลาย เป็นพระมหาเถระที่พูดน้อยปฏิบัติมาก พูดแต่คำสัตย์ คำจริง เป็นพระมหาเถระผู้หนัก อยู่ในธรรม เป็นพระมหาเถระผู้มีความโอบอ้อมอารีย์ เมตตาปราณีเป็นนิจ เป็นพระมหาเถระผู้มีความประพฤติเรียบร้อย มีความสันโดษ สังวรระวังเป็นพระมหาเถระผู้ที่มีความอดทน อดกลั้นอยู่เสมอ

* หลวงปู่ท่านพระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) ท่านเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่น่าเคารพสักการะหลายประการ เป็นต้นว่า กิริยาอาการเคลื่อนไหวทางกาย ในการยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น ประกอบด้วย อาจาระมารยาทอันงาม การเจรจาพาที่ประกอบด้วยความสงบเสงี่ยม สังวรระวังในขอบเขตอันสมควรอยู่เสมอ มีความเอื้อเฟื้อเสียสละอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดถึงญาติโยมทุกชั้นตามฐานะบำรุงส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรม และประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าหลวงปู่ท่านจะจากไป ท่านก็จากไปแต่สังขารร่างกายเท่านั้น ยังเหลือคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำไว้ให้ระลึกถึงอยู่เสมอ สมกับคำว่า อยู่ให้เขารัก จากให้เขาคิดถึง

* โดยนัยนี้เราอาจกล่าวได้ว่า หลวงปู่พระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) ก็ได้มีส่วนสำคัญในชีวิตของท่าน ที่ได้ทุ่มเทเสียสละเพื่อท่าน เพื่อวัด และเพื่อพระพุทธศาสนา บ้านเมือง แล้วยังเท่ากับเพื่อเราทุกท่านทั่วกัน และเป็นการสมควรแล้วที่เราท่านลูกหลานศิษยานุศิษย์ทั้งหลายจักกราบไหว้เคารพบูชาสักการะท่าน ในฐานะปูชนียบุคคล และครุฎฺฐานีบุคคล ที่สูงยิ่งด้วยอามิสบูชา คือดอกไม้ ธูป เทียน และปัจจัยแห่งชีวิตทั้งสี่ ด้วยการก่อสร้างส่งเสริม ซ่อมแซมตามกำลัง และด้วยปฏิบัติบูชา คือการประพฤติปฏิบัติชอบด้วยกาย วาจา และใจต่อตนเอง ต่อคนอื่นและต่อส่วนรวม อันนักปราชญ์สรรเสริญ ว่าเป็นการสนองพระคุณอย่างประเสริฐ

♥        ด้วยในนามของคณะศิษยานุศิษย์ทุกๆ ท่าน ขอกราบคารวะ หลวงปู่ท่านพระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) ด้วยความรัก ความอาลัยอาวรณ์อย่างสุดซึ่ง

♥        ขอน้อมจิตอุทิศบุญกุศลทั้งหลายทั้งมวลที่ได้ร่วมกันบำเพ็ญมาแล้วก็ดี ที่มีอยู่ ณ บัดนี้ก็ดี ตลอดจนที่จักมีในกาลต่อไป ขอให้เป็น

              อำนาจพลวปัจจัยบันดาล คุ้มครองดวงวิญญาณของพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านพระครูธรรมโสภิต (อรุณ อรุณธมฺโม) ในสุคติภพแล้ว จึงได้ประสบแต่บรมสุขสิริสวัสดิ์ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อตราบเท่าพระนิพพาน และได้เผื่อแผ่เกื้อกูลแก่เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีประมาณโดยถ้วนทั่วกันเทอญ.


พระภิกษุลำยง ทีปกโร

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากคลองปราณ(ในขณะนั้น)


ไม่มีความคิดเห็น: