26/1/57
ประวัติ หลวงพ่อเจริญ ธมฺมโชติ อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เพชรบุรี
หลวงพ่อกำเนิดที่บ้านสามเรือน ( บ้านหน้าวัด ) ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ตรงกับเดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ เป็นบุตรคุณพ่อแป้นและคุณแม่นุ่ม อ้นแสง ตระกูลของท่านเป็นชาวนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๑๒ คน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว คือ นางน้อย เกิดประดับ ท่านเป็นน้องชายของหลวงพ่อพระครูญาณวิลาศ ( แดง รตฺโต ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ เป็นที่น่าสังเกตว่า โยมบิดามารดาของท่านเป็นบุคคลผู้มีวาสนา เพราะมีบุตรชายอุปสมบทและครองสมณเพศอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตถึง ๒ รูป ทั้งยังได้เป็นเจ้าอาวาสที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรทั้ง ๒ รูป ด้วย ครอบครัวของท่านมีฐานะพอมีพอกิน และเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งในละแวกนั้น
เมื่อท่านอายุได้ ๑๐ ขวบ ท่านได้ไปอยู่กับพี่ชายของท่านชื่อ จัน ที่อุปสมบทอยู่วัดแก่นเหล็ก ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการศึกษาหนังสือไทยกับท่านพระครูญาณ- วิสุทธิ ( พ่วง ) เจ้าอาวาสวัดแก่นเหล็ก จนมีความรู้เขียนอ่านหนังสือไทยได้ดีพอควรครั้นอายุได้ ๑๓ ปี ลาออกจากวัดแล้วมาช่วยโยมบิดามารดาทำนาตลอดมาจนเข้าสู่วัยหนุ่มอายุ ๑๘ ปี ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร เป็นทหารชาววังรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เลขหมายประจำตัว( สักด้วยหมึกดำที่หน้าแขนซ้าย ๓ แถว ) มีข้อความแถวที่ ๑ ว่า “ ชาววัง ” แถวที่ ๒ “ ก.ท. ” แถวที่ ๓ เป็นตัวเลข “ ๓๗๙๔ ” สังกัดอยู่กองโยธา รับราชการอยู่เป็นเวลา ๓ ปี
ในปีที่ ๔ ได้รับเลือกเข้าเป็นเลขเดือน หรือที่เรียกกันว่า เข้าเดือน มีตำแหน่งเทียบเท่ามหาดเล็กรักษาพระองค์ ขึ้นกับสำนักพระราชวัง นับว่าท่านเป็นผู้มีโชคดีคนหนึ่ง และท่านอยู่รับราชการต่อไป ณ ที่นี้จนครบปีที่ ๕ มีอายุครบ ๒๒ ปีบริบูรณ์ ในสมัยที่ท่านกำลังรับราชการอยู่ในปีที่ ๕ นั้น ท่านมีกุศลเจตนาอย่างแรงกล้า คิดว่าเมื่อท่านรับราชการทหารครบ ๕ ปีแล้ว ท่านจะออกไปอุปสมบท เพราะการอุปสมบทถือกันว่าเป็นการสนองพระคุณบิดามารดา เพราะชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิก เชื่อกันว่าหากได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว บิดามารดาย่อมได้รับส่วนกุศล เมื่อได้เห็นชายผ้าเหลืองของบุตรหลานที่ได้อุปสมบทแล้วนั่นเอง ทั้งยังเชื่อมั่นกันว่า ผู้ใดยังไม่ได้ผ่านการอุปสมบทแล้ว ไม่สมควรมีภรรยาก่อน หลวงพ่อท่านมีความเชื่อมั่นอยู่ในคตินี้ แม้ท่านจะได้ผ่านชีวิตของคนหนุ่มมาและยังได้เข้าไปสู่สถานที่เจริญ
ซึ่งย่อมได้พบได้เห็นเพศตรงข้ามมาไม่น้อย แต่ท่านก็ไม่ยอมทิ้งความเชื่อมั่นดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านจึงยังครองความเป็นโสดตลอดมา เมื่อท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาครบ ๕ ปี และออกมาจากประจำการแล้ว ท่านจึงเดินทางสู่ภูมิลำเนาเดิมเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ร่มเงาของกา-สาวพัสตร์ต่อไป แต่บังเอิญเมื่อท่านกลับมาถึงบ้านเดิมแล้ว พี่ชายของท่าน ( หลวงพ่อแดง ได้อุปสมบทไปแล้ว ทางบ้านจึงขาดผู้ที่จะช่วยเหลือโยมบิดาทำนา ท่านจึงต้องอยู่ช่วยทำนาเสียอีก ๑ ปี แล้วจึงได้เข้าอุปสมบท ท่านได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาทองนพคุณ โดยมีหลวงพ่อเปลี่ยน เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูญาณสิสุทธิ (พ่วง) วัดแก่นเหล็ก เป็นกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า “ ธมฺโชติ ” เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๑ ( ตามที่ปรากฏในหนังสือสุทธิของท่าน ) เมื่ออุปสมบทแล้วท่านคงจำพรรษาอยู่ที่วัดทองนพคุณนี้ตลอดมา ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยจากพระอาจารย์ รวมทั้งศึกษาวิชาอื่นจากอาจารย์วัดต่าง ๆ อีกหลายแห่ง สำหรับการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น ยังไม่เจริญแพร่หลายอย่างสมัยในปัจจุบัน ท่านจึงไม่มีโอกาสได้เข้าสอบในสนามหลวง และไม่มีดีกรีของความรู้ต่อท้ายนามของท่าน นอกจากเป็นการศึกษาแล้วทรงจำไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านเอง ฉะนั้นแม้ว่าท่านจะมีความรู้ความสามารถพร้อมทั้งวัยวุฒิและจริยาวัตรดีเพียงใด ท่านก็คงมีสภาพเป็นหลวงพ่อแก่ ๆ รูปหนึ่งที่เสมือนผู้ไร้ความสามารถ ท่านจึงมีฐานะเพียงพระครูชั้นสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านปกครองอย่างใด แต่ก็รู้สึกเป็นความพอใจของท่านเป็นอย่างยิ่ง หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว
ท่านได้ศึกษาในด้านคันตุกะและวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์หลายรูปและหลายแห่งจนมีความรู้ความสามารถในที่จะบำเพ็ญสมณะกิจได้ดีแล้ว ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานช่างไม้ เพื่อให้เหมาะสมกับที่ต้องช่วยเหลือท่านเจ้าอาวาส บูรณะ- ปฏิสังขรณ์พระอารามต่อไป เพราะวัดวาอารามในสมัยนั้นอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ทั้งเป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องเป็นผู้บูรณะซ่อมแซม ท่านจึงพยามยามฝึกฝนหาความรู้ทางด้านงานช่างไม้จากผู้มีความรู้ดีบ้าง พยายามจดจำผลงานที่ดี ๆ ของช่างเก่า ๆ บ้าง ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยรักงานประเภทนี้อยู่เป็นทุนอยู่แล้ว ทั้งยังมีความอุตสาหะ และความอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ท่านจึงสามารถศึกษางานด้านนี้จนมีความรู้ความสามารถ จนนับได้ว่า ท่านเป็นนายช่างที่มีฝีมือดีผู้หนึ่ง จากผลงานของท่านนี้ ท่านจึงได้รับมอบหมายจากหลวงพ่ออ่ำ เจ้าอาวาส และอาจารย์ของท่านให้รับหน้าที่ทางบูรณะและปฏิสังขรณ์พระอารามแทนท่านต่อมา มีผู้เคยเล่ากันมาว่า งานซ่อมสร้างเสนาสนะของวัดทองนพคุณในครั้งก่อนโน้น บางครั้งจ้างช่างไม้ที่อื่นมาทำ แต่ช่างไม้ที่มาทำนั้นถูกท่านท้วงติงฝีมือการทำงาน เพราะช่างทำได้ไม่ดีตามความประสงค์ของท่าน ช่างหลายรายต้องคืนงานไม่ยอมรับทำต่อไป เพราะรู้ตัวดีว่าฝีมือสู้ท่านไม่ได้ ท่านเคยกล่าวแก่บรรดาศิษย์ของท่านว่า เราจ้างเขามาทำเพราะคิดว่าเขาจะฝีมือดีกว่าเรา ถ้าทำได้ไม่ดีกว่าเราหรือต่ำกว่าเรา ก็ไม่จำเป็นจะต้องจ้างมาให้เสียเงินเปล่า ๆ เราทำกันเองดีกว่า ฉะนั้นงานช่างไม้ที่วัดทองนพคุณนี้ ส่วนมากจึงสำเร็จด้วยฝีมือของท่าน และงานที่สำเร็จมาแต่ละชิ้นก็นับได้ว่ามีความประณีตและเรียบร้อยดีทุกอย่าง ทางด้านกิจของพระศาสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระคู่สวด พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงพ่ออ่ำ เจ้าอาวาสมรณภาพ ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส วัดทองนพคุณแต่นั้นมา เมื่อรับหน้าที่เจ้าอาวาสแล้ว ท่านก็ได้ปฏิบัติงานทั้งฝ่ายศาสนกิจและงานด้านสาธารณูปการตลอดมา นับว่าท่านเป็นพระมหาเถระที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นเวลานานมากรูปหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ จนถึงปีที่ท่านมรณภาพ คือ พ.ศ. ๒๕๑๗ รวมเป็นเวลา ๕๑ ปีเศษ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)