1/7/56

อมตะสังขาร'หลวงพ่อพาน สุขกาโม'พระคงกระพันชาตรี

อมตะสังขาร'หลวงพ่อพาน สุขกาโม'พระคงกระพันชาตรี

อมตะสังขาร'หลวงพ่อพาน สุขกาโม' พระคงกระพันชาตรี แห่งวัดโป่งกระสัง อ.กุยบุรี จ.ประจวบครีขันธ์ : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู


     
  วัดเฉลิมราษฎร์ หรือวัดโป่งกระสัง ตั้งอยู่บ้านโป่งกะสัง หมู่ ๔ ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ (สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย) เดิมเป็นที่พักสงฆ์ชื่อ “ที่พักสงฆ์โป่งกะสัง” พ.ต.ท.เฉลิม เฉลิมวัฒน์ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสำนักสงฆ์โป่งกะสัง โดยมี พล.ท.สำราญ แพทยกุล เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ สมเด็จพระศรีนครินทร์ทราบรมราชชนนี ได้เสด็จเยี่ยมสำนักสงฆ์โป่งกะสัง ได้พระราชทานเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์

        พระทองคุณได้มาปกครองสำนักสงฆ์โป่งกะสัง ประมาณ ๒ ปีเศษ ท่านได้กลับไปยังจิตภาวัน จ.ชลบุรี ราษฎรบ้านโป่งกะสังจึงนิมนต์พระพาน สุขกาโม จากวัดหนองไม้เหลือง จ.เพชรบุรี มาปกครองสำนักสงฆ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๑๖ นายแบน วัดวิไล ได้ดำเนินการขออนุญาตสร้างวัด ได้รับอนุญาตสร้างวัดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๗ และได้ตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ชื่อ “วัดเฉลิมราษฎร์”

        วัดโป่งกระสัง มีอดีตเกจิที่มีชื่อเสียง คือ หลวงพ่อพาน สุขกาโม เกิดวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๔ ในสกุล พุ่มอำภา เป็นชาวบ้านกล้วย ต.บางเค็ม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี อุปสมบท ณ พัทสีมา วัดหนองไม้เหลือง เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านได้มาจำพรรษาที่วัดโป่งกะสัง และเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ โดยท่านมีความมุ่งมั่นในการก่อร่างสร้างวัดโป่งกะสัง ที่ยังไม่มีอะไรเลย ให้เป็นวัดที่มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจากบารมีของท่าน

        หลวงพ่อพาน เป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติดี จึงเป็นที่รักของพระผู้ใหญ่และหนึ่งในนั้นคือ หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี หลวงพ่อพานนับถือหลวงพ่ออินทร์มากไปมาหาสู่กันตลอด หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง นี้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เมื่อมีเวลาว่าง หลวงพ่อพาน จะมาพักที่วัดยางเสมอ ถึงแม้ต่อมาหลวงพ่ออินทร์ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระเทพวงศาจารย์ และเป็นเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี ความสนิทสนมของหลวงพ่ออินทร์ กับหลวงพ่อพาน นี้ก็ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์มากั้น มีแต่ศิษย์พี่ศิษย์น้อง เพราะหลวงพ่อพานเรียกหลวงพ่ออินทร์ ว่าคุณพี่อินทร์ โดยหลวงพ่ออินทร์ก็ยังได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้หลวงพ่อพานด้วย

        นอกจากนี้หลวงพ่อพาน ก็ยังฝากตัวเป็นศิษย์ของพระครูพินิตสุตคุณ (หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง) ด้วย คือหลวงพ่อพาน ท่านทราบว่าหลวงพี่เพลินได้เดินทางไปศึกษาวิชากับหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านจึงขอตามไปด้วย โดยการไปของท่านนั้นได้ชวนหลวงพ่ออุ้น หลวงพ่อแล ไปเป็นเพื่อนกันด้วย เมื่อไปถึงก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชาแขนงต่างๆ จากหลวงพ่อทองศุข โดยหลวงพ่อทองศุข ท่านเมตตาสอนให้จนครบ แต่จะได้วิชาไม่เหมือนกัน มีทั้งแคล้วคลาด เมตตา คงกระพัน และวิชาทำผงพุทธคุณ อีกทั้งวิชาทำตะกรุดต่างๆ วิชาว่านยา โดยหลวงพ่อพานเล่าว่า เมื่อเรียนกลับมาแล้วต้องกลับมาแลกเปลี่ยนวิชากัน

        ระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๑๓ ก่อนมาเป็นเจ้าอาวาส วัดโป่งกะสัง หลวงพ่อพานกับหลวงพ่ออุ้น ได้ชวนกันออกธุดงค์ เพื่อปลีกวิเวก ทั้งสองได้เดินธุดงค์ขึ้นทางแก่งกระจานไปออกปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี โดยได้ไปถึงน้ำตกมะไฟ บ้านย่านซื่อ และเดินธุดงค์ลงมาที่บ้านโป่งกะสัง ในขณะนั้นเป็นพื้นที่สีแดง มีผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์เยอะมาก ในขณะนั้นยังไม่ได้สร้างวัด แต่มีคนเพชรบุรีได้อพยพมาทำไร่ในแถบนี้มาก ต่อมาสมเด็จย่า ทรงสร้างวัดขึ้นที่หมู่บ้านโป่งกะสัง โดยให้ชื่อว่าวัดเฉลิมราษฎร์ (บ้านโป่งกะสัง) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๓  คนบ้านแค จ.เพชรบุรี ไปทำมาหากินที่หมู่บ้านโป่งกะสัง ชื่อโยม พลอย น้อยสำราญ โดยโยมพลอยได้ชื่นชอบ หลวงพ่อพาน ที่ท่านเป็นพระเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด จึงได้ไปขอกับหลวงพ่อเพลิน ให้หลวงพ่อพานไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโป่งกะสัง

        เมื่อครั้งที่หลวงพ่อพานมาอยู่วัดโป่งกะสังครั้งแรก ท่านอยู่ตามลำพังแค่รูปเดียวเพราะในสมัยนั้นคอมมิวนิสต์ชุมมากจริงๆ จึงไม่มีพระองค์ใดกล้าอยู่  ท่านเป็นพระที่เก็บตัว วัดของท่านแทบจะเรียกว่าอยู่ในป่าก็ว่าได้ ทำให้ท่านไม่เป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่นมากนัก แต่ในท้องที่กุยบุรีแล้วท่านเป็นอันดับหนึ่งเรื่องคงกระพันชาตรี สุดยอดมหาอุตม์ตลอดกาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เหรียญรุ่นแรกของท่านสร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๙

        หลวงพ่อพาน มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๙ รวมอายุ ๘๔ ปี สรีระของท่านไม่เน่าเบื่อย ถูกเก็บไว้ในโลงไม้เพื่อลูกศิษย์ได้ชมบารมี ปัจจุบันวัดโป่งกะสัง มีพระครูถาวรธรรมประสิทธิ์ เป็นเจ้าอาวาส งานหนึ่งที่ท่านสานต่อเจตนารมณ์ของหลวงพ่อพาน คือ สร้างโบสถ์ ซึ่งเริ่มมาต้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๔ ผ่านไปกว่า ๔๐ ปี โบสถ์ที่หลวงพ่อพานสร้างไว้ยังไม่แล้วเสร็จ ผู้มีจิตศรัทธาเข้ากราบสรีระหลวงพ่อพาน และร่วมบุญสร้างโบสถ์ได้ที่ โทร.๐-๓๒๘๒-๓๐๙๒  และ ๐๘-๙๙๘๐-๖๖๗๐

ขอบคุณ:ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู